การทำแฟนเพจถ้ามั่นใจว่า “แตกต่าง” แทบจะไม่ต้องแข่งกับใคร แต่เพจ “ซ้ำ” เมื่อไหร่ จำนวนเพจที่ซ้ำนั้นเป็นคู่แข่งทั้งหมด โดยเฉพาะเพจ “ขายเสื้อ” มีเยอะมากๆ เพราะคนซื้อต้องเลือก หากเขาเจอเสื้อที่ถูกใจกว่า เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อของเพจเรา ดังนั้นการวางแผนการทำแฟนเพจ ประเด็นไม่ใช่แค่ทำให้คนมากด Like แต่เราจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไหร่ ทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำกันอย่างมีแผนการ

Facebook-A129

1. เป้าหมายของเพจ
มันเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนคิดไว้ก่อนอยู่แล้ว เช่น อยากดัง อยากขายของ อยากแบ่งปัน …อีกสารพัดที่อยากจะให้เป็น หลังจากวางเป้าหมายแล้ว ต่อไปก็เป็นการคิดว่าทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมาย

และการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย …ให้ลองคิดว่ามันเหมือนการเดินทาง เช่น จากกรุงเทพไปอุดร เดินทาลไปด้วยอะไรได้บ้าง รถทัวร์ เครื่องบิน รถไฟ รถตู้ รถส่วนตัว ฯลฯ พร้อมคำนวนค่าใช้จ่ายไว้เสร็จสรรพ จากนั้นก็ดำเนินการตามที่วางแผนเอาไว้ โดยเลือกเดินทางว่าจะไปทางไหน …แต่จะไปถึงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา

สรุป การวางแผนคือสิ่งที่ควรคิดให้เสร็จสรรพ เหมือนๆกับการเดินทางที่บอกไว้ จะทำให้มีทิศทางที่จะไปถึงอย่างชัดเจน …แต่จะเดินทางไม่ถึงเป้าหมายได้หรือไม่ อันนี้ไม่มีใครตอบได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวัง

2. ชื่อแฟนเพจ
แนะนำให้เป็นชื่อที่ไม่ซ้ำใคร เป็นชื่อที่มีเอกลักษณ์ หรือเป็นชื่อร้านที่คิดขึ้นมาเอง ทำแบบนี้คนจะจำง่าย เพราะมันจะส่งผลต่อการค้นหาบนอินเตอร์เน็ตหรือบน Facebook เองก็เหอะ อีกอย่าง ไม่ควรใช้ชื่อที่พิมพ์ยาก (ยกเว้นว่าจะเป็นชื่อที่มีอยู่แล้ว เปลี่ยนใหม่ไม่ได้)

3. รูปลักษณ์
การออกแบบทั้งหมดของเพจ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเพจจะมีลักษณะไหน เช่น อยากให้ดูน่ารัก หรู คลาสสิค น่าเชื่อถือ ฯลฯ

มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ให้แวะไปดูแฟนเพจคู่แข่ง และแฟนเพจอื่นๆที่เขามียอด Like จำนวนมาก วันๆเขาทำอะไบ้าง เช่น สมมุติว่าจะขายเสื้อบนแฟนเพจ ก็ให้ไปดูเพจขายเสื้อ ดูว่าเพจเขามีอะไร จากให้ลองเปรียบเทียบดูระหว่างเพจเราให้เพจเรา มองว่ามีอะไรที่เหมือน มีอะไรที่ต่าง และเพจเรามีอะไรที่ดีกว่า

4. กลุ่มเป้าหมาย
คนที่อยากให้มากด Like คือใคร …มันไม่ใช่ทุกคนบนเฟสแน่ๆ ถ้าคิดแบบนั้นจะเหนื่อย แต่ถ้ารู้แล้วจะประชาสัมพันธ์ง่าย เช่น กลุ่มคนรักสัตว์ คนชอบคำคม คนไอที คนรักสวยรักงาม ฯลฯ เวลาทำเพจต้องแยกได้ว่าต้องการกลุ่มคนแบบไหน

แนวคิดคือเริ่มต้นจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ อย่าไปวาดภาพให้มันกว้างมากนัก เช่น ทำเพจขายรถ ก็มองหาคนที่น่าจะซื้อรถเป็นหลัก อาจจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อพอสมควร …ในขณะเดียวกัน อย่าลืมมองคนที่มีรถอยู่แล้ว จากนั้นก็คิดต่อว่ากด Like แล้วจะได้อะไร !

5. คอนเทนท์
ใน 1 วันจะโพสอะไรบ้าง “นอกจากสินค้า” วันละประมาณกี่โพส โพสช่วงไหน

คอนเทนท์หรือสาระในเพจจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เพจเดินไปข้างหน้า มันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนกด Like ด้วย และทำให้เพจดูมีชีวิตชีวา ทุกๆโพสมันคือสิ่งที่ทำให้เพจเดินไปข้างหน้า …แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคอนเทนท์มีปัญหา ก็อาจจะทำให้เพจมีปัญหาตามมาด้วย

แต่ถ้าจะให้ดี ควรมีคอนเทนท์ที่แตกต่าง สร้างได้เองก็ยิ่งดี คอนเทนท์จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนจดจำเราได้

6. งบประมาณ
แฟนเพจถ้าทำเล่นๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นเพจขายของก็ยากหน่อยที่คนจะกด Like ให้ การเตรียมงบประมาณสำหรับทำโฆษณาถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น …แต่ถ้าจะไม่ลงทุนโฆษณาก็ทำให้มีคนกด Like ได้ เพียงแต่จะไปยากหน่อย เหมือนการเดินทาง ถ้าใช้เงินซื้อตั๋วเครื่องบินก็ไปได้เร็วกว่า แต่ถ้าจะเดินไปก็ต้องใช้เวลานาน

แล้วต้องใช้เงินเท่าไหร่ ? สมมุติว่าจะทำ Facebook Ad ให้ตีราคา 1,000 Like ต่อ 10,000 บาทโดยประมาณ คนที่กดถูกใจผ่านโฆษณาส่วนใหญ่จะเป็น Like คุณภาพ คือจะทำให้เราได้ลูกค้าจริงๆ …แต่ถ้าไปใช้บริการทำยอด Like ราคาถูกกว่าก็จริง แต่โอกาสที่จะได้ลูกค้า มีน้อยมากถึงมากที่สุด  เพราะมันไม่ใช่ Like จากคนที่สนใจเพจจริงๆ อีกทั้งมันจะเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนในอนาคต  เพราะต้องมาเดาว่าคนที่สนใจเพจจริงๆมันกี่คน

จากนั้น
เมื่อพร้อมแล้วก็ทำตามแผนที่วางไว้ โดยให้กำหนดเป็นแผนระยะสั้นหับระยะยาว ระยะสั้น เช่น เดือนนี้ถ้าทำแบบนี้จะได้ยอด Like เพิ่มเท่าไหร่ จะขายของได้กี่ชิ้น จะถอนทุนคืนได้ตอนไหน ส่วนระยะยาวก็คือ ตลอดปีจะทำกำไรจากการขายของบนเพจได้เท่าไหร่ เป็นต้น …ถ้าขายของบนเพจ ก็คิดแบบทำธุรกิจไปเลย

แผนสำรอง
อะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น เพจโดนปิด เฟสบุ๊คเสื่อม คนเลิกชอบ ไม่มีใครมาซื้อของ ฯลฯ ถ้าถึงจุดนั้นแล้วจะทำอย่างไร บางทีก็อาจจะต้องเปลี่ยนแผน คิดไว้ล่วงหน้าว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะทำยังไงต่อไป

สรุป
นี่เป็นแนวคิดโดยคร่าวๆ เท่านั้น คือรายละเอียดปีกย่อยเกี่ยวกับการทำแฟนเพจยังมีอีกเยอะ เดี๋ยวจะทยอยนำมาเสนออีก

บทความก่อนหน้านี้มารยาทการฝากโฆษณาบนแฟนเพจต่างๆ
บทความถัดไปทำการตลาดบน Facebook แบบไหน ไม่ให้โดนด่า ไม่เสี่ยงโดนแบน
เป้าหมายการทำเว็บของผมคือ คนไทยต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จะแก้ปัญหาไอทีต้องมีทางออก เว็บมหาลัยฯจึงก่อกำเนิดขึ้น